สรุปรายงานผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2023 ของ Square Enix



สรุปรายงานผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2023 ของ Square Enix (นับตั้งแต่ 1 เมษายน 2023 สิ้นสุด 31 มีนาคม 2024) ประเดิมปีแรกในการบริหารงานของทาคาชิ คิริว ซึ่งขึ้นรับตำแหน่งประธานบริษัท Square Enix คนที่ 3 ในเดือนมิถุนายน 2023 ที่ผ่านมา

ท้าวความเดิม ปีงบประมาณ 2022 ที่ผ่านมาบริษัทมีกำไรสุทธิ 49,264 ล้านเยน ขณะที่ในปีล่าสุด ผลประกอบการประจำปี 2023 มีกำไร 14,912 ล้านเยน คิดเป็นลดลง -69.7% และต่ำกว่าที่ประเมินไว้เมื่อปีที่แล้วว่าจะทำกำไรได้ 38,500 ล้านเยน ถึง 61.3% ในขณะที่ Operating Income และ Ordinary Income ก็ตกลงเช่นกันที่ -26.6% และ -24.1% ตามลำดับ โดยมีเงินปันผล 124.37 เยนต่อหุ้น ต่ำกว่าปีที่แล้วซึ่งได้ 411.62 เยนต่อหุ้น

ในภาพรวมแล้วปีงบประมาณ 2023 ที่ Final Fantasy XVI และ Final Fantasy VII Rebirth วางจำหน่าย ซึ่งเป็นเกมระดับ AAA ของค่ายถึง 2 เกมแท้ ๆ แต่กลับมีผลประกอบการรวมทั้งปีที่ตกต่ำจนน่าใจหาย นับเป็นการเริ่มต้นปีแรกของคิริว ที่ออกสตาร์ตแบบกลิ้งอยู่แถวจุดสตาร์ต 3 ตลบ 

บริษัทเหตุผลของการที่ผลประกอบการต่ำกว่าที่บริษัทคาดการณ์ไว้ว่า

- เกม HD ขายได้ต่ำกว่าที่คาดไว้

- การยกเลิกคอนเทนต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หลังการปรับ Pipeline ใหม่ (ที่สองสัปดาห์ก่อนออกข่าวว่ายกเลิกคอนเทนต์เนื้อหา 22,100 ล้านเยน แล้วลงเป็นค่าใช้จ่ายปีงบประมาณนี้)

ทีนี้เมื่อแยกตามประเภทธุรกิจในเครือ ซึ่งมีด้วยกัน 4 ประเภทแล้ว จะแจงผลประกอบการได้ดังนี้

1. ธุรกิจสื่อบันเทิง (เกมนั่นแหละ)

Net Sales จากธุรกิจเกมปีนี้อยู่ที่ 248,109 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้ 245,548 ล้านเยนอยู่ 1.0%
ส่วน Operating Income อยู่ที่ 25,468 ล้านเยน ลดลงจากปีที่แล้วที่ได้ 41,253 ล้านเยนถึง 38.3%

โดยในหมวดนี้จะประกอบไปด้วยธุรกิจเกม HD, Social Gaming, PC Browser, Smart Device และ MMO ในที่นี้ทางค่ายได้เรียงรายชื่อเกมที่สร้างรายได้ให้แก่ทางค่ายได้อย่างโดดเด่นเกินคาดในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายนามดังนี้



หมวดเกม HD (เกมคอนโซล + PC)

ปีนี้เกม HD ทำรายได้ให้ทางค่าย 99,200 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งทำได้ 78,500 ล้านเยน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 26.36% โดยทางค่ายอธิบายว่า ปีนี้รายได้ประกอบขึ้นจากเกมอย่าง Final Fantasy XVI, Final Fantasy VII Rebirth, Final Fantasy Pixel Remaster, Dragon Quest Monsters: The Dark Prince ทว่ามี Operating Loss 8,100 ล้านเยน เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการพัฒนาเกมที่สูงขึ้น ค่าโฆษณาที่มากขึ้น รวมถึงการยกเลิกคอนเทนต์เป็นมูลค่าที่สูงยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน 



หมวดเกม MMO

ปีนี้เกม MMO ของค่ายทำรายได้ 47,300 ล้านเยน ต่ำกว่าปีที่แล้วซึ่งทำได้ 53,300 ล้านเยน นับว่าลดลง -11.25% ซึ่งค่ายไม่ได้ขยายความอะไร (ประหลาด ปีนี้รายงานมันเขียนสั้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา)

ทั้งนี้ ปัจจุบันรายได้จากหมวด MMO คิดเป็นสัดส่วน 19.07% ของรายได้ในหมวดเกม
แต่ถ้าคิดในแง่ Operating Income หมวด MMO จะคิดเป็นสัดส่วน 79.09% (เพราะหมวดเกม HD มันติดลบ)



หมวดเกม Smart Device และ PC Browser

ปีนี้รายได้จากเกมมือถืออยู่ที่ 101,500 ล้านเยน ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งทำได้ 113,600 ล้านเยน คิดเป็นลดลง -10.65 % ซึ่งเป็นการลดลงของรายได้ในหมวดนี้เป็นปีที่สองติดต่อกัน นับว่าเป็นสัญญาณไม่ดีเท่าไหร่ ครั้งก่อนหน้านั้นก็คือปี 2018 แล้วก็มาปี 2022 เนี่ยแหละ ซึ่งทางค่ายบอกว่าแม้มีการเปิดบริการ Dragon Quest Champions และ Final Fantasy VII: Ever Crisis ในปีงบประมาณ 2023 แต่ก็ไม่อาจทดแทนเกมที่เปิดให้บริการมาก่อนแล้วที่ทำผลประกอบการได้ไม่สู้ดีนัก


ยอดขายเกมตามโซนต่าง ๆ ในปีงบประมาณล่าสุด

โซนญี่ปุ่น
ยอดขายแผ่น : 1.95 ล้านแผ่น (ปีก่อน 2.19)
ยอดขายดิจิทัล : 4.68 ล้านหน่วย (ปีก่อน 3.14)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 6.63 ล้านหน่วย (ปีก่อน 5.32)

โซนอเมริกาเหนือและยุโรป
ยอดขายแผ่น : 3.48านแผ่น (ปีก่อน 3.69)
ยอดขายดิจิทัล : 12.91 ล้านหน่วย (ปีก่อน 10.79)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 16.39 ล้านหน่วย (ปีก่อน 14.49)

โซนเอเชียและอื่น ๆ
ยอดขายแผ่น : 0.70 ล้านแผ่น (ปีก่อน 0.72)
ยอดขายดิจิทัล : 2.60 ล้านหน่วย (ปีก่อน 1.92)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 3.30 ล้านหน่วย (ปีก่อน 2.63)

*ในภาพรวมยอดขายเกมทั่วโลกมันก็สมควรที่จะขึ้นอย่างที่เห็น เพราะการวางจำหน่ายของ Final Fantasy XVI และ Final Fantasy VII Rebirth

รวมทั้งหมด
ยอดขายแผ่น : 6.13 ล้านแผ่น (ปีก่อน 6.59)
ยอดขายดิจิทัล : 20.19 ล้านหน่วย (ปีก่อน 15.85)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 26.32 ล้านหน่วย (ปีก่อนหน้านั้น 22.44,  39.13, 49.90 นับว่าปีล่าสุดมียอดที่กระเตือนขึ้น แต่ก็ไม่เท่ากับช่วงปี 2020-2021 ในยุคโควิด)

โดยรวมแล้วยอดขายเกมทั้งหมด เพิ่มขึ้น 17.29% 



รายได้จากการขายเกม HD

ปีงบประมาณ 2010 - 42,100 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2011 - 49,000 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2012 - 55,600 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2013 - 47,300 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 - 44,400 ล้านเยน (ช่วงนี้หดตัวต่อเนื่องมา 2 ปี)
ปีงบประมาณ 2015 - 58,500 ล้านเยน (ปีนี้ กลับมาเพิ่มขึ้นแล้ว)
ปีงบประมาณ 2016 - 92,800 ล้านเยน (เพิ่มขึ้นเพราะ FFXV + NieR: Automata + WoFF + Rise of Tomb Raider จนทำให้รายได้หมวดนี้แซงรายได้เกมมือถืออีกครั้ง)
ปีงบประมาณ 2017 - 65,600 ล้านเยน (ออกเกมฟอร์มยักษ์น้อย รายได้เลยตก มี DQXI เป็นหลัก)
ปีงบประมาณ 2018 - 93,500 ล้านเยน (กลับมาสูงขึ้นด้วย Kingdom Hearts III)
ปีงบประมาณ 2019 - 42,000 ล้านเยน (แทบไม่มีเกมฟอร์มยักษ์ใหม่ ๆ ออก และ FFVIIR เลื่อน)
ปีงบประมาณ 2020 - 96,600 ล้านเยน (FFVII Remake + Marvel's Avengers)
ปีงบประมาณ 2021 - 87,100 ล้านเยน (Outriders, NieR Replicant Ver.1.22474487139..., Marvel's Guardians of the Galaxy, Life is Strange True Colors, Triangle Strategy และ Stranger of  Paradise -Final Fantasy Origin-)
ปีงบประมาณ 2022 - 78,500 ล้านเยน (Crisis Core -Final Fantasy VII- Reunion, Forspoken และ Octopath Traveller II )
ปีังบประมาณ 2023 - 99,200 ล้านเยน (Final Fantasy XVI, Final Fantasy VII Rebirth, Final Fantasy Pixel Remaster)

รายได้จากเกมบน Smart Device และ PC Browser

ปีงบประมาณ 2010 - 12,900 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2011 - 16,100 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2012 - 22,700 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2013 - 27,200 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 - 44,200 ล้านเยน (พัฒนาจนสร้างรายได้เท่าเกม HD)
ปีงบประมาณ 2015 - 68,800 ล้านเยน (ทำรายได้แซงหน้าเกม HD ไปแล้ว)
ปีงบประมาณ 2016 - 83,300 ล้านเยน (เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ดันโดนยอดขายเกม HD แซงคืน
ปีงบประมาณ 2017 - 93,800 ล้านเยน (ยังคงโตวันโตคืน)
ปีงบประมาณ 2018 - 83,800 ล้านเยน (ลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์)
ปีงบประมาณ 2019 - 106,400 ล้านเยน (มันกลับขึ้นไปอีกแล้ว)
ปีงบประมาณ 2020 - 127,400 ล้านเยน (ทำสถิติใหม่อีกแล้ว)
ปีงบประมาณ 2021 - 130,300 ล้านเยน (มีการเปลี่ยนนโยบายทางบัญชี)
ปีงบประมาณ 2022 - 113,600 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2023 - 101,500 ล้านเยน (มี Final Fantasy VII: Ever Crisis)

รายได้จากเกม MMO

ปีงบประมาณ 2010 - 9,200 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2011 - 6,800 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2012 - 11,100 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2013 - 20,000 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 - 23,300 ล้านเยน (ทำรายได้แค่ครึ่งหนึ่งของเกม HD และ Smart Device)
ปีงบประมาณ 2015 - 31,600 ล้านเยน (ยังคงทำรายได้เท่ากับครึ่งหนึ่งของเกม HD)
ปีงบประมาณ 2016 - 22,700 ล้านเยน (ลดลง โดยให้เหตุผลเพราะ FFXIV และ DQX ยังไม่ออกภาคเสริม ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดไว้แต่แรกว่าจะลดลง)
ปีงบประมาณ 2017 - 31,800 ล้านเยน (เพิ่มขึ้น เพราะ Expansion ใหม่ของ FFXIV และ DQX)
ปีงบประมาณ 2018 - 27,100 ล้านเยน (ลดลง เพราะไม่มี Expansion ใหม่ออก แต่รายได้จากค่าเล่นเกมรายเดือน ยังคงมีสภาพคล่องอยู่)
ปีงบประมาณ 2019 - 40,100 ล้านเยน (เพิ่มขึ้น เพราะ Expansion ใหม่ของ FFXIV และ DQX)
ปีงบประมาณ 2020 - 39,800 ล้านเยน (ลดลงเล็กน้อย ทั้งที่ไม่มีการออก Expansion ใหม่)
ปีงบประมาณ 2021 - 62,200 ล้านเยน (เพิ่มขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์ เพราะทั้ง FFXIV และ DQX ต่างออกExpansion ใหม่)
ปีงบประมาณ 2022 - 53,300 ล้านเยน (ลดลง และไม่มีการออก Expansion ใหม่)
ปีงบประมาณ 2023 - 47,300 ล้านเยน (ลดลง และไม่มีการออก Expansion ใหม่)

ในภาพรวมแล้วปีงบประมาณ 2023 มีรายได้จากหมวดสื่อบันเเทิงรวมกัน 248,109 ล้านเยน ซึ่งเพิ่มขึ้นนิดเดียว แต่ด้วยปัญหาต่าง ๆ ในหมวดเกม HD และรายได้อีกสองหมวดที่ตกต่ำลง ทำให้ Operating Income ตกต่ำลง 38.3%

2. ธุรกิจเครื่องเล่น (เกมตู้)

รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.2% เป็น 61,569 ล้านเยน

รายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากผ่านปีโควิดเป็นต้นมา

3. ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือการ์ตูน คู่มือเกม นิตยสารต่าง ๆ

รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.6% คิดเป็น 31,089 ล้านเยน ทางค่ายหมายเหตุว่าเพราะความนิยมอย่างสูงของ The Apothecary Diaries ที่นำไปทำแอนิเม และเริ่มออกอากาศเมื่อตุลาคม 2023 เป็นต้นมา



4. ธุรกิจสินค้าจากตัวละคร เพลงประกอบเกม แก้วน้ำ

รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.8% เป็น 18,924 ล้านเยน

โดยสินค้าหลักคือ ฟิกเกอร์ทิฟา ฟิกเกอร์คลาวด์แต่งหญิง และชุด Collector ของ FFXVI

--------------------------------------------



ในส่วนของการประเมินผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2024 นั้น ทางค่ายประเมินว่า เอาให้ได้กำไร 28,000 ล้านเยน

สำหรับนโยบายใหม่ ๆ ก็มี

- นโยบายลดหน่วยลงทุนขั้นต่ำ เพื่อจูงใจนักลงทุนเข้าร่วมมากขึ้น และเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้น

- Reboot 3 ปีเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ลดปริมาณ เน้นคุณภาพ ส่งมอบความสนุก

- ออกเกม AAA ให้สม่ำเสมอ เพื่อสร้าง Loyalty ต่อค่าย, เกมระดับกลางตามกลยุทธ โดยเน้นที่การทำกำไร

- กล้าที่จะสร้าง IP ใหม่ ๆ ด้วยความเป็นไปได้ใหม่ และเทคโนโลยีใหม่

- กลับมาใช้กลยุทธ Multiplatform เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะเกมซีรีส์ดัง และเกม AAA ต่าง ๆ

- พวกเกม SD ไม่เพียงลงแค่ iOS และ Android เท่านั้น พยายามลงบน PC พร้อมกันไปด้วย เพื่อโกยผู้เล่นใหม่ในช่วงเกมเปิดตัวให้ได้มากที่สุด และทำให้คนติดงอมแงมหลังจากเปิดให้บริการไปแล้ว

- ผลักดันการขายเกมใหม่แบบ Digital ไปให้สุด

- ตลาด PC กำลังเติบโต พยายามชนะใจ PC User ให้ได้

- ทำกลยุทธส่งเสริมการขาย และการตลาดผ่านความร่วมกับบริษัทอื่น ทั้งในและนอกประเทศ

- สร้างสภาพแวดล้อมในออฟฟิศ ที่จะสามารถปลดปล่อยศักยภาพทีมพัฒนาได้อย่างเต็มที่, ทำให้สามารถทำงานได้เกิด Productivity สูงสุดภายใต้ระบบการทำงานแบบ Hybrid



สรุปสุดท้าย

ปีงบประมาณ 2013 กำไรสุทธิ 6,598 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 กำไรสุทธิ 9,831 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2015 กำไรสุทธิ 19,884 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 11,000 - 18,000 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2016 กำไรสุทธิ 20,039 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 17,000 - 21,000 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2017 กำไรสุทธิ 25,821 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 16,500 - 19,500 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2018 กำไรสุทธิ 19,373 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 21,000 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2019 กำไรสุทธิ 21,346 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 16,800 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2020 กำไรสุทธิ 26,942 ล้านเยน (ไม่ได้คาดการณ์ไว้)
ปีงบประมาณ 2021 กำไรสุทธิ 51,013 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 24,000 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2022 กำไรสุทธิ 49,264 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2023 กำไรสุทธิ 14,912 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 38,500 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2024 คาดว่าจะมีกำไร 28,000 ล้านเยน

สำหรับสรุปรายงานฯ ของปีก่อน อ่านได้จากลิงค์ด้านล่างนี้

เอกสารประกอบ

https://www.hd.square-enix.com/eng/ir/pdf/24q4slides.pdf
https://www.hd.square-enix.com/eng/ir/pdf/24q4earnings.pdf
https://www.hd.square-enix.com/eng/ir/pdf/24q4release.pdf
https://www.hd.square-enix.com/eng/ir/pdf/20240513_04_en.pdf
https://www.hd.square-enix.com/eng/ir/pdf/20240513_03_en.pdf
https://www.hd.square-enix.com/eng/ir/pdf/20240513_02_en.pdf
https://www.hd.square-enix.com/eng/ir/pdf/20240513_01_en.pdf

ไม่มีความคิดเห็น