ค่านิยมลิขสิทธิ์ที่ผันเปลี่ยนตามกาลเวลา


เห็นดราม่างาน ThGS ที่เอาของแฟนเมด/ละเมิดลิขสิทธิ์ มาขาย ก็ดีนะ เป็นการรณรงค์ว่าชาวเจนฯ Z ไม่อยากให้ค่านิยมเก่าในเรื่องนี้ เดินหน้าต่อไปแล้ว ก็จะล้างให้เหลือแต่ของลิขสิทธิ์ให้มากที่สุด


เดี๋ยวก็คงมีฟีดแบ็ค ต่อแม่งาน และปรับปรุงต่อไปเอง

พอเห็นแบบนี้แล้ว เรา ๆ เจนฯ Y และคนตั้งแต่ X ขึ้นไปรู้สึกยังไงบ้างนะ

โลกนี่มันเปลี่ยนแปลง ไม่หยุดนิ่งไปตลอดจริง ๆ เลย

ค่านิยม กฎเกณฑ์ ที่เป็น Mala prohibita  ถึงเปลี่ยนแปลงไปตลอด

แต่ทั้งนี้ พอเห็นชาวเจนฯ Z เกรี้ยวกราดเรื่องนี้แล้ว เราก็นึกย้อนอดีต

1) กฎหมายลิขสิทธิ์พึ่งเริ่มมีในไทยปี 2537 เอง แต่กว่ามันจะแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับ ก็หลังปี 2550 ไปได้มั้ง ตอนปีแรก ๆ ยังมีฎีกาเลื่องชื่อออกมาเลยว่าเสื้อที่ลอกลาย Snoopy นั้นไม่ผิด เพราะ Snoopy เป็นหมาน้อยธรรมดาที่ใคร ๆ ก็วาดได้ (สะท้อนว่าตอนพึ่งรับกฎหมายนั้นมาใช้ ศาลก็ยังไม่เข้าใจ)

2) กฎหมายลิขสิทธิ์ในไทย ไม่ได้เกิดเพราะการตกผลึกองค์ความรู้ของคนไทยเลยนะ แต่เกิดจากการที่ในปี 1994 WTO ให้ประเทศภาคีทั้งหมด ลงนาม TRIPS Agreement (อนุสัญญา TRIPS) แล้วในนั้นคือให้ประเทศภาคี รับกฎหมายลิขสิทธิ์ไปใช้ ไทยที่เป็นภาคี เลยรับมาใช้ และเกิด พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ขึ้นมา

3) ตอนสมัยผมเรียนมัธยม ช่วงยุค 2540-2550 หรือสรุปว่าก่อนหน้ายุค PS3 ละกัน ผมโดนนิตยสาร MEGA โดยพี่สุภาพ ค่อย ๆ ล้างสมองให้เข้าฝ่ายลิขสิทธิ์นิยม ผมเป็นคนเดียวในชั้นเรียน ที่บ้าบออดข้าวอดอาหารกลางวัน เก็บเงินหลายเดือนเพื่อจะซื้อแผ่นแท้สมัย PS2.... ในขณะที่เพื่อนทั้งเด็กเรียนและเด็กไม่เรียนทั้งชั้น ด่าผมว่าโง่ ของก็อปมันก็ใช้ได้เหมือนกัน เป็นการประหยัดอดออม รู้คุณค่าเงิน ช่วยเหลือพ่อแม่

4) ซึ่งในช่วง 2540-2550 ที่เรายังอยู่ในวัยเรียน กฎหมายลิขสิทธิ์พึ่งเกิดมาไม่นาน พอเราจะซื้อแผ่นแท้ที ไม่ว่าจะเกมหรือหนัง ก็จะโดนทั้งเพื่อน ทั้งญาติผู้ใหญ่เจนฯ X และ Baby Boomer รุมด่าไม่ให้ผุดไม่ให้เกิด

5) มานั่งคิดดู ปัจจุบันใน พ.ศ. 2566 แล้ว ผู้ใหญ่เจนฯ X และ Baby Boomer ที่ใช้ชีวิตมา 20-40 ปีก่อนก่อนที่กฎหมายลิขสิทธิ์จะเกิดมา เขาก็ไม่ค่อยสนใจเรื่องลิขสิทธิ์กันเท่าไหร่ นั่นก็เพราะการรณรงค์เรื่องลิขสิทธิ์มันเป็นเรื่องค่านิยมที่มาเปลี่ยน เอาในตอนเขาใช้ชีวิตไปนาน จนนิสัยและแนวคิดมันคงที่ไปแล้ว

6) แต่สำหรับเจนฯ Z เขาเกิดมาหลังกฎหมายลิขสิทธิ์ไง มันเลยเป็นคนละเรื่อง เขาเกิดมาในยุคที่ค่านิยมมันเปลี่ยนไปแล้ว

7) เห็นหลายคนบอกว่าคนไทยไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์.... อืมผมว่าหลาย ๆ คนที่พูดแบบนี้ ก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองก็ไม่รู้เลยเช่นกัน....

8) หลักนึงที่คิดว่าคนจำนวนมากไม่รู้คือ ใน TRIPS มันกำหนดไว้ว่า ถ้าสิ่งใดได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีแห่งนึง ก็ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีทั้งหมดด้วย ซึ่งภาคีนั้น จำได้ว่ามันมีทั้งไทย ญี่ปุ่น อเมริกา....... (ปัจจุบันมี 164 ประเทศ เกือบ Worldwide) ดังนั้น แปลว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นมา ลิขสิทธิ์มันก็คลุมเกือบทุกประเทศในโลกแล้ว 

การใช้คำว่า "สิ่งที่สร้างในญี่ปุ่น ไม่มีลิขสิทธิ์ในไทย" เลยไม่ถูกต้องซะทีเดียว.... หากญี่ปุ่นสร้างขึ้นมา มันก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ 164 ประเทศ ถ้าคนไทยละเมิด (ทำซ้ำ/ดัดแปลง/เผยแพร่) ญี่ปุ่นเขาจะถ่อบินมาฟ้องที่ไทย ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ไทย ก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติเขาไม่ทำทำกัน

ประโยคด้านบน ถ้าจะแก้ไขให้ถูกต้อง ต้องเปลี่ยนเป็น // สิ่งที่สร้างในญี่ปุ่น ก็ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย, แต่ถ้ามีคนซื้อ License (สิทธิ์ในการทำซ้ำ/ดัดแปลง/เผยแพร่ แล้วแต่ตกลง) มา ก็ให้คนถือ License เขาไปจัดการแทน


9) คนไทยหลายคนชอบพูดว่า ถึงละเมิดลิขสิทธิ์ แต่หากไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์ก็ไม่ผิด อันนี้ก็เป็นความเข้าใจผิด 

คนที่คิดแบบนี้ ก็อาจจะคิดว่าการที่พรี่ค้อนและทีมงาน แปล Ultimania ทั้งเล่มเป็น Eng แล้วต่อด้วย Photoshop แล้วจัดทำทั้งเล่มเป็น PDF Eng ขึ้นมาใหม่แล้วแจกฟรี ก็ไม่ผิด เพราะเขาไม่ได้ทำขาย

แต่ในความเป็นจริงคือมันผิด

ข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ เงื่อนไขจริง ๆ ของมันคือ "ต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ของเจ้าของงาน + ไม่กระทบสิทธิอันชอบของเจ้าของงานเกินสมควร" ดังนั้น ต่อให้คุณทำแจกฟรี แต่มันไปขัดการทำรายได้เขา มันก็ผิด

ฯลฯ

(ไปแต่งรูปสาว ๆ ต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น