สรุปรายงานผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2019 ของ Square Enix


สรุปรายงานผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2019 ของ Square Enix (นับตั้งแต่ 1 เมษายน 2019 สิ้นสุด 31 มีนาคม 2020)

ท้าวความเดิม ปีงบประมาณ 2018 บริษัทมีกำไรสุทธิ 19,373 ล้านเยน และคาดการณ์ว่าปี 2019 จะมีกำไร 16,800 ล้านเยน ทว่าผลประกอบการประจำปี 2019 มีกำไร 21,346 ล้านเยน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 10.2% ในขณะที่ Operating Income และ Ordinary Income ได้เพิ่มขึ้น 33.0% และ 12.9% ตามลำดับ โดยมีเงินปันผล 179.02 เยนต่อหุ้น สูงกว่าปีที่แล้วซึ่งได้ 162.57 เยนต่อหุ้น

[หมายเหตุ] - ในรายงานผลประกอบการปีล่าสุด ระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางบัญชีในการคิดรายได้จาก Digital Content และมีผลย้อนหลังถึงการคิดบัญชีปีงบประมาณ 2018 (สิ้นสุดมีนาคม 2019) ด้วย ทำให้ตัวเลขรายงานผลประกอบการปี 2018 ที่ปรากฏอยู่ในรายงานผลประกอบการปีล่าสุด ไม่ตรงกับรายงานผลประกอบการปีที่แล้ว เช่นรายงานปีที่แล้วบอกว่าปีงบประมาณ 2018 มีกำไร 18,463 ล้านเยน แต่ในรายงานปีล่าสุดเขียนว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีกำไร 19,373 ล้านเยน ในการทำกราฟผมจึงยึดตัวเลขจากรายงานล่าสุดที่เปลี่ยนแปลงนโยบายทางบัญชีแล้วเป็นหลัก

ทีนี้เมื่อแยกตามประเภทธุรกิจในเครือ ซึ่งมีด้วยกัน 4 ประเภทแล้ว จะแจงผลประกอบการได้ดังนี้

1. ธุรกิจสื่อบันเทิง (เกมนั่นแหละ)

Net Sales จากธุรกิจเกมปีนี้อยู่ที่ 188,687 ล้านเยน ต่ำกว่าปีที่แล้วที่ได้ 204,549 ล้านเยนอยู่ 7.8%
ส่วน Operating Income อยู่ที่ 35,357 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้ 28,997 ล้านเยนถึง 21.9%

โดยในหมวดนี้จะประกอบไปด้วยธุรกิจเกม HD, Social Gaming, PC Browser, Smart Device และ MMO ในที่นี้ทางค่ายได้เรียงรายชื่อเกมที่สร้างรายได้ให้แก่ทางค่ายได้อย่างโดดเด่นเกินคาดในปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายนามดังนี้



หมวดเกม HD (เกมคอนโซล)

ปีนี้เกมคอนโซลทำรายได้ให้ทางค่าย 42,000 ล้านเยน ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งทำได้ 93,500 ล้านเยน คิดเป็นลดลง 55.08 % โดยทางค่ายอธิบายว่าแม้จะมีรายได้จาก Dragon Quest XI S: Echoes of an Elusive Age – Definitive Edition, Romancing SaGa 3, Kingdom Hearts III : Remind และเงินบางส่วนที่เข้ามาจากการส่ง FFVII Remake ไปขายก่อนปิดไตรมาส แต่รายได้รวมก็ลดลงเมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนซึ่งมีเกมฟอร์มใหญ่ออกใหม่หลายเกมมากกว่า ทว่าเกมเหล่านั้นก็ขายได้ดีแค่ในปีตัวเอง พอมาปีงบประมาณ 2019 ก็ขายเพิ่มไม่ได้มากนัก นอกจากนี้ยังมีการลงบัญชีเงินที่เสียเปล่าไปในการพัฒนาเกม HD


หมวดเกม MMO

ปีนี้เกม MMO ของค่ายทำรายได้ 40,100 ล้านเยน สูงกว่ากว่าปีที่แล้วซึ่งทำได้ 27,100 ล้านเยน นับว่าเพิ่มขึ้น 47.97% เนื่องจากมีการออก Expansion ใหม่ของ Final Fantasy XIV และ Dragon Quest X นั่นเอง ทำให้มียอดคนเล่นและค่าเล่นเกมรายเดือนที่เก็บได้เพิ่มสูงขึ้น


หมวดเกม Smart Device และ PC Browser

ปีนี้รายได้จากเกมมือถืออยู่ที่ 106,400 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งทำได้ 83,800 ล้านเยน คิดเป็นเพิ่มขึ้น 26.96 % นับว่ารายได้จากเกมมือถือได้ทำลายสถิติเก่า 93,800 ล้านเยนในปีงบประมาณ 2017 ลงได้เรียบร้อย ซึ่งทางค่ายก็ยกความดีความชอบให้  Dragon Quest Walk และ Romancing SaGa Re;univerSe ที่ทำรายได้ให้อย่างงดงาม


ยอดขายเกมตามโซนต่าง ๆ ในปีงบประมาณที่ผ่านมา

*สำหรับเกมดิจิตอล นับเฉพาะเกมที่วางจำหน่ายภายในปีงบประมาณ 2018-2019
**สำหรับเกมแผ่น จำนวนที่ขายได้หมายถึงจำนวนแผ่นที่ส่งออกไปขาย ตามมาตรฐานทางบัญชี

โซนญี่ปุ่น
ยอดขายแผ่น : 1.60 ล้านแผ่น (ปีก่อน 3.00)
ยอดขายดิจิทัล : 1.58 ล้านหน่วย (ปีก่อน 1.37)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 3.18 ล้านหน่วย (ปีก่อน 4.37)

*ยอดขายเกมแบบแผ่นของโซนญี่ปุ่นลดลง ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะปีงบประมาณ 2019 แทบไม่มีเกมฟอร์มใหญ่ใหม่ ๆ ออกเลย ต่างจากปีงบประมาณ 2018 ที่มี Octopath Traveler, Shwdow of the Tomb Raider, Just Cause 4 และ Kingdom Hearts III แต่ยอดขายเกม Digital กลับเพิ่มขึ้น

โซนอเมริกาเหนือและยุโรป
ยอดขายแผ่น : 4.88 ล้านแผ่น (ปีก่อน 12.45)
ยอดขายดิจิทัล : 8.41 ล้านหน่วย (ปีก่อน 8.22)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 13.29 ล้านหน่วย (ปีก่อน 20.67)

*ยอดขายเกมแบบแผ่นของโซนอเมริกาเหนือและยุโรป ลดลงเกือบ 3 เท่า แต่ยอดขายเกม Digital กลับเพิ่มสูงขึ้น เป็นไปตามเทรนด์ที่การซื้อเกมแบบ Digital เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

โซนเอเชียและอื่น ๆ
ยอดขายแผ่น : 0.78 ล้านแผ่น (ปีก่อน 0.49)
ยอดขายดิจิทัล : 0.84 ล้านหน่วย (ปีก่อน 1.09)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 1.62 ล้านหน่วย (ปีก่อน 1.58)

*จากสถิติระหว่างปีงบประมาณ 2014-2018 สัดส่วนยอดขายเกมแบบดิจิทัลของโซนเอเชียและอื่น ๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนแซงยอดขายแผ่นได้สำเร็จ โดยในปีงบประมาณ 2018 ยอดขายเกมแบบดิจิทัลของโซนนี้คิดเป็น 68.98% ของยอดขายเกมทั้งหมด ทว่าในปีงบประมาณ 2019 สัดส่วนการขายเกมแบบดิจิทัลลดลงเหลือเพียง 51.85% เท่านั้น

รวมทั้งหมด
ยอดขายแผ่น : 7.26 ล้านแผ่น (ปีก่อน 15.94)
ยอดขายดิจิทัล : 10.83 ล้านหน่วย (ปีก่อน 10.68)
ยอดขายแผ่นและดิจิทัล : 18.09 ล้านหน่วย (ปีก่อน 26.62)

โดยรวมแล้วปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ยอดขายเกมในภาพรวมของ Square Enix ตกลงไปมาก หากย้อนกลับไปปีงบประมาณ 2016 ตอนนั้นขายได้ 34.76 ล้านหน่วย, ปี 2017 23.74 ล้านหน่วย, ปี 2018 26.62 ล้านหน่วย แต่ปีล่าสุดกลับร่วงลงไปเหลือ 18.09 ล้านหน่วย ซึ่งสาเหตุหลักก็เพราะแทบไม่มีเกมฟอร์มยักษ์ใหม่ ๆ ออกเลย ซึ่ง Dragon Quest XI S: Echoes of an Elusive Age – Definitive Edition และ Kingdom Hearts III : Remind ต่างก็เป็นแค่ภาคเสริมของเกมที่เคยออกไปแล้ว ส่วนอาวุธหนักอย่าง Final Fantasy VII Remake ก็ดันเลื่อนการวางจำหน่ายข้ามปีงบประมาณจาก 2019 ไปเป็น 2020 แทน ทำให้ผิดแผนเสียกระบวนกันไปหมด

*แต่ทั้งนี้ก็เป็นที่น่าสนใจว่า ในรายงานฯ ปีก่อนทางขายประเมินว่าปีงบประมาณ 2019 จะขายเกมทั่วโลกได้แค่ 18.27 ล้านชุด (เป็นยอดที่ค่อนข้างน้อย จนราวกับคำนวณไว้แล้วว่า FFVII Remake อาจจะเลื่อนวันวางจำหน่าย) ซึ่งสุดท้ายตัวเลข 18.09 ที่ออกมา ก็ไม่ได้ต่างจากที่คาดสักเท่าไหร่

เกม HD ฟอร์มยักษ์ที่จะใช้สร้างรายได้ในปีงบประมาณ 2020

ปีนี้เป็นอีกครั้ง (ปีที่ 2 ติดต่อกัน) ที่เอกสารไม่มีการระบุว่าจะใช้เกมอะไรเป็นกำลังหลักในการทำรายได้ในปีงบประมาณ 2020

และด้วยสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ทางค่ายระงับการประเมินผลประกอบการ ยอดขายเกม และค่าต่าง ๆ สำหรับปีงบประมาณ 2020 เอาไว้จนกว่าสถานการณ์จะชัดเจนขึ้นจนอยู่ในขั้นที่สามารถประเมินขอบเขตและระดับของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ เพื่อที่จะสามารประเมินตัวเลขต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และสมเหตุสมผล


รายได้จากการขายเกม HD

ปีงบประมาณ 2010 - 42,100 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2011 - 49,000 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2012 - 55,600 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2013 - 47,300 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 - 44,400 ล้านเยน (ช่วงนี้หดตัวต่อเนื่องมา 2 ปี)
ปีงบประมาณ 2015 - 58,500 ล้านเยน (ปีนี้ กลับมาเพิ่มขึ้นแล้ว)
ปีงบประมาณ 2016 - 92,800 ล้านเยน (เพิ่มขึ้นเพราะ FFXV + NieR: Automata + WoFF + Rise of Tomb Raider จนทำให้รายได้หมวดนี้แซงรายได้เกมมือถืออีกครั้ง)
ปีงบประมาณ 2017 - 65,600 ล้านเยน (ออกเกมฟอร์มยักษ์น้อย รายได้เลยตก มี DQXI เป็นหลัก)
ปีงบประมาณ 2018 - 93,500 ล้านเยน (กลับมาสูงขึ้นด้วย Kingdom Hearts III)
ปีงบประมาณ 2019 - 42,000 ล้านเยน (แทบไม่มีเกมฟอร์มยักษ์ใหม่ ๆ ออก และ FFVIIR เลื่อน)

รายได้จากเกมบน Smart Device และ PC Browser

ปีงบประมาณ 2010 - 12,900 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2011 - 16,100 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2012 - 22,700 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2013 - 27,200 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 - 44,200 ล้านเยน (พัฒนาจนสร้างรายได้เท่าเกม HD)
ปีงบประมาณ 2015 - 68,800 ล้านเยน (ทำรายได้แซงหน้าเกม HD ไปแล้ว)
ปีงบประมาณ 2016 - 83,300 ล้านเยน (เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ดันโดนยอดขายเกม HD แซงคืน
ปีงบประมาณ 2017 - 93,800 ล้านเยน (ยังคงโตวันโตคืน)
ปีงบประมาณ 2018 - 83,800 ล้านเยน (ลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์)
ปีงบประมาณ 2019 - 106,400 ล้านเยน (มันกลับขึ้นไปอีกแล้ว)

รายได้จากเกม MMO

ปีงบประมาณ 2010 - 9,200 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2011 - 6,800 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2012 - 11,100 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2013 - 20,000 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 - 23,300 ล้านเยน (ทำรายได้แค่ครึ่งหนึ่งของเกม HD และ Smart Device)
ปีงบประมาณ 2015 - 31,600 ล้านเยน (ยังคงทำรายได้เท่ากับครึ่งหนึ่งของเกม HD)
ปีงบประมาณ 2016 - 22,700 ล้านเยน (ลดลง โดยให้เหตุผลเพราะ FFXIV และ DQX ยังไม่ออกภาคเสริม ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดไว้แต่แรกว่าจะลดลง)
ปีงบประมาณ 2017 - 31,800 ล้านเยน (เพิ่มขึ้น เพราะ Expansion ใหม่ของ FFXIV และ DQX)
ปีงบประมาณ 2018 - 27,100 ล้านเยน (ลดลง เพราะไม่มี Expansion ใหม่ออก แต่รายได้จากค่าเล่นเกมรายเดือน ยังคงมีสภาพคล่องอยู่)
ปีงบประมาณ 2019 - 40,100 ล้านเยน (เพิ่มขึ้น เพราะ Expansion ใหม่ของ FFXIV และ DQX)

ในภาพรวมแล้วปีงบประมาณ 2019 มีรายได้จากหมวดสื่อบันเเทิงรวมกัน 188,687 ล้านเยน นับว่าต่ำกว่าเป้า 200,500 ล้านเยนที่ตั้งไว้เมื่อปีที่แล้วระดับหนึ่ง

2. ธุรกิจเครื่องเล่น (เกมตู้)

รายได้ตกลงจากปีก่อน 1.2% เป็น 45,673 ล้านเยน

รายได้จากค่าเล่น Arcade ยังคงดี แต่รายได้จากการขายเครื่องเล่นลดลง

3. ธุรกิจสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือการ์ตูน คู่มือเกม นิตยสารต่าง ๆ

รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 36.0% คิดเป็น 19,452 ล้านเยน

4. ธุรกิจสินค้าจากตัวละคร เพลงประกอบเกม แก้วน้ำ

รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18.1% เป็น 8,737 ล้านเยน

--------------------------------------------

ทั้งนี้มีประเด็นน่าสนใจว่าในรายงานผลประกอบการประจำปี 2017 ทางค่ายคาดการณ์ว่ารายได้ในปีงบประมาณ 2019 (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2020) จะดีดตัวทะยานฟ้าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ จนทำให้นักข่าวพากันเชื่อว่า Final Fantasy VII Remake น่าจะวางจำหน่ายภายในปีงบประมาณนั้นแหละ


ทว่าในรายงานผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2018 ทางค่ายกับคาดการณ์ใหม่ว่ารายได้ในปีงบประมาณ 2019 จะทรงตัว... แล้วค่อยไปดีดตัวขึ้นสูงในปีงบประมาณ 2020 (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2021) แทน ราวกับวางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมีการเลื่อนกำหนดการวางจำหน่ายเกมฟอร์มยักษ์เป็นการภายใน จากที่ควรจะออกในปีงบประมาณ 2019 กลายเป็น 2020 แทน... ซึ่งสุดท้าย Final Fantasy VII Remake ก็ได้เลื่อนวันวางจำหน่ายมาข้ามสู่ปีงบประมาณ 2020 แทน


ทีนี้ในรายงานผลประกอบการประจำปีงบประมาณ 2019 ทั้งที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อยู่ แต่ทางค่ายก็ยัง ตั้งเป้าหมาย ว่าในปีงบประมาณ 2020 (สิ้นสุด 31 มีนาคม 2021) จะมีรายได้ 300,000~400,000 ล้านเยน และมี Opertating Income 40,000~50,000 ล้านเยน ซึ่งส่วนตัวผมว่าเดี๋ยวก็คงมีการทบทวนและตั้งเป้าหมายใหม่

ทั้งนี้ ปีนี้ทางค่ายขอระงับ การประเมิน ผลประกอบการ ยอดขายเกม และค่าต่าง ๆ สำหรับปีงบประมาณ 2020 เอาไว้จนกว่าสถานการณ์จะชัดเจนขึ้นจนอยู่ในขั้นที่สามารถประเมินขอบเขตและระดับของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ เพื่อที่จะสามารประเมินตัวเลขต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และสมเหตุสมผล

สรุปสุดท้าย

ปีงบประมาณ 2013 กำไรสุทธิ 6,598 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2014 กำไรสุทธิ 9,831 ล้านเยน
ปีงบประมาณ 2015 กำไรสุทธิ 19,884 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 11,000 - 18,000 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2016 กำไรสุทธิ 20,039 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 17,000 - 21,000 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2017 กำไรสุทธิ 25,821 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 16,500 - 19,500 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2018 กำไรสุทธิ 19,373 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 21,000 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2019 กำไรสุทธิ 21,346 ล้านเยน (เดิมคาดไว้ 16,800 ล้านเยน)
ปีงบประมาณ 2020 ปัจจุบันยังไม่มีการคาดการณ์

สำหรับสรุปรายงานฯ ของปีก่อน อ่านได้จากลิงค์ด้านล่างนี้

เอกสารประกอบ

https://www.hd.square-enix.com/eng/news/pdf/20q4slides.pdf
https://www.hd.square-enix.com/eng/news/pdf/20q4earnings.pdf
https://www.hd.square-enix.com/eng/news/pdf/20q4release.pdf
https://www.hd.square-enix.com/eng/news/pdf/20q4_200511.pdf

ไม่มีความคิดเห็น