สารพันเรื่องน่าสนใจ Kingdom Hearts -HD 1.5 ReMix- [5]

(เขียนขึ้นเมื่อ 16/04/2013)


พึ่งเล่น Kingdom Hearts -HD 1.5 ReMix- จบในส่วนของภาค Re: Chain of Memories ....จำได้ว่าสมัยก่อน ผมเล่นใส่แต่การ์ด 0 กับ 9 เข้าไปตีบอส ด้วยวิธีการนี้ เราไม่ต้องอาศัยคอมบงคอมโบอะไรทั้งนั้น ดักสวนลูกเดียว
แต่มาเล่นรอบนี้ ผมได้ลองใช้ท่า Result Frame (Stop+Attack+Attack) ซึ่งเป็นการหยุดเวลา แล้วเข้าไปฟันศัตรูเป็นชุดอย่างโหด (บอสใหญ่โดนเข้าไปลดทีละ 1 หลอด) ผมรู้สึกว่าท่านี้มันโก๊งโกง.... ลองใช้กับศัตรูและบอสตัวแล้วตัวเล่า เฝ้าหวังว่ามันจะมีบอสตัวที่ Resist ต่อท่านี้ได้ ก็ไม่ยักมีสักตัว ผมเลยจัดเด็ดที่มีแต่ Stop+Attack+Attack เรียงกัน 5 ชุด แล้วตามด้วย Mega Elixir ปิดท้ายด้วย Cure กับการ์ด 0 อีก 3 ใบ.... -[]-" ไม่น่าเชื่อว่ากระทั่งบอสใหญ่ โดน Result Frame เข้าไปก็ยังหยุดชะงัก แล้วก็ถูกฟาดชุดละ 1 หลอดได้ ถือเป็นเรื่องที่แปลกดี...
อ่อ จากที่เล่นมาจนจบ ก็ได้ข้อสรุปว่าเนื้อหาในส่วนภาค Chain of Memories ถูกรีมาสเตอร์ด้านกราฟฟิคขึ้นมาแบบหยาบๆ นะครับ หลายๆ คัตซีนในเกม ไม่ได้ถูกรีมาสเตอร์ขึ้นมาเป็น Real-time Cutscene ที่คมชัด แต่ทำเป็นไฟล์วีดีโอที่บีบอัดมาจนดูเบลอๆ ซึ่งฉากส่วนใหญ่ก็เบลอไม่เท่าไหร่ แต่ในส่วน Credit นี่มัวอย่างทุเรศเลย...
เทียบกันแล้ว ในส่วนเนื้อหาของภาค 1 ถูกรีมาสเตอร์กราฟฟิึคขึ้นมาอย่างปราณีต แต่ภาค Re: Chain of Memories รีมาสเตอร์กราฟฟิคขึ้นมาแบบหยาบๆ ครับ

ทฤษฎีโซ่แห่งความทรงจำที่นามิเนะกล่าวไว้ในภาคนี้ เป็นหนึ่งในทฤษฎีจากเกมที่ผมชอบมาก และรู้สึกว่ามันสมเหตุสมผล สมจริง ผมเชื่อในทฤษฎีนี้มาตลอด แต่ยังคิดว่าลำพังคำอธิบายของนามิเนะ มันยังไม่สมบูรณ์ ระหว่างที่ผมอาบน้ำในวันนี้ ผมเลยเอาทฤษฎีนี้ขยายความ ต่อยอด และพยายามอธิบายระบบความทรงจำในสมองของมนุษย์ให้ได้ โดยที่ยังอิงอยู่บนทฤษฎีของนามิเนะอยู่
ไหนๆ ก็ึิคิดมาไกลถึงขนาดนี้แล้ว เลยอยากบันทึกไว้สักหน่อย ซึ่งทฤษฎีที่ผมต่อยอดขึ้นมา ก็อธิบายได้ด้วยภาพด้านบน ซึ่งมีรายละเอียดต่อไป
1. ผมแบ่งพื้นที่เก็บความทรงจำในสมองของคนเราเป็น 5 ส่วนด้วยกัน โดยจำแนกไว้ด้วยสีที่แตกต่างกัน ตามที่เห็นในภาพ โดยใจกลางของภาพนั้นก็มีศูนย์กลางคือ วงกลมสีน้ำตาลที่มีคำว่า "ตัวเรา" และ ผมขอแทนความทรงจำแต่ละเรื่องด้วย กรอบสี่เหลี่ยมสีเทา โดยในแต่ละวัน ตัวเราจะได้รับความทรงจำใหม่ๆ มาแล้วเก็บไว้ในพื้นที่ "1" และทบทวนความทรงจำเก่าๆ แล้วเก็บไว้ในพื้นที่ "2"
1.1 พื้นที่สีเขียวอ่อนเบอร์ "1" (ความทรงจำล่าสุด) คือพื้นที่สำหรับเก็บความทรงจำที่เราได้รับเข้ามาใหม่ในแต่ละวัน ซึ่งก็คือเรื่องทั่วในชีวิต ว่าเราไปไหนมา เรากินข้าวกับอะไร เราได้ไปเจอใครมาบ้าง งานของเรามีอะไรบ้าง ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป เรื่องเหล่านี้จะถูกส่งไปเก็บในพื้นที่เบอร์ 3
1.2 พื้นที่สีเหลืองเบอร์ "2" (ความทรงจำฝังหัว) คือพื้นที่สำหรับเก็บความทรงจำที่ถูกเราหยิบยกขึ้นมานึกถึงเป็นประจำ อาจเพราะเราต้องทำมันซ้ำๆ กันทุกวัน หรือเผชิญกับมันทุกวัน เช่น สถานที่ทำงาน ใบหน้าของพ่อแม่ คติประจำใจของเราเอง ชื่อคนที่รัก อาการกลัวความสูง ....ตราบใดที่เรายังนึกถึงความทรงจำเหล่านี้เป็นประจำ ความทรงจำเหล่านี้ก็จะยังอยู่ในพื้นที่เบอร์ 2 แต่เมื่อใดที่เราเริ่มไม่สนใจ มันก็จะค่อยๆ ถูกส่งไปเก็บในพื้นที่เบอร์ 3
พื้นที่เบอร์ 1 และ 2 คือพื้นที่เก็บความทรงจำที่อยู่ใกล้ "ตัวเรา" มากที่สุด ทำให้เราสามารถนึกถึงมันได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาคิดนาน
1.3 พื้นที่สีเขียวเบอร์ "3" (ความทรงจำทั่วไป) คือพื้นที่สำหรับเก็บความทรงจำที่เราพอจะจำได้ อาจจะต้องใช้เวลานึกสักครู่ แต่ก็สามารถนึกออกได้ไม่ยากนัก ซึ่งมันก็คือเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วของเรานั่นเอง
พื้นที่ในส่วนนี้ประกอบด้วยกรอบสี่เหลี่ยมมากมาย หมายถึงประกอบด้วยความทรงจำหลากหลายเรื่อง โดยกรอบสี่เหลี่ยมแต่ละกรอบนั้นจะมีเส้นตรงขีดเชื่อมระหว่างกันอยู่ การขีดเชื่อมนั้นหมายความว่าความทรงจำเหล่านั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน พอนึกถึงเรื่องนึงออก ก็จะโยงไปถึงความทรงจำอีกเรื่องหนึ่งได้ด้วย ตัวอย่างเช่น เราจำได้ว่าเมื่อวานนี้ตอนเย็นเราไปกินแมคโดนัลด์ เราก็จะนึกไปต่อได้ว่าเรากินเมนูอะไร แล้วก็นึกต่อได้ว่าเราเดินทางไปซื้อยังไง ฯลฯ
จะเห็นได้ว่ากรอบสี่เหลี่ยมบางอันมันอยู่ในพื้นที่ 1 หรือ 2 แต่กลับมีเส้นตรงขีดเชื่อมมายังกรอบสี่เหลี่ยมในพื้นที่ 3 นั่นหมายความว่า ความทรงจำในพื้นที่ 1 หรือ 2 นั้น มันเชื่อมโยงกับความทรงจำในอดีตซึ่งอยู่ในพื้นที่เบอร์ 3 นั่นเอง ตัวอย่างเช่น วันนี้เราไปเดินห้างแล้วเจอตุ๊กตาโดราเอม่อน (ความทรงจำนี้ก็จะถูกเก็บไว้ในพื้นที่ 1) พอเราเห็นตุ๊กตาดังกล่าวแล้วเราก็นึกได้ว่าแฟนเก่าเราชอบโดราเอม่อน (ความทรงจำนี้ถูกเก็บไว้ในพื้นที่ 3) นี่ก็เป็นตัวอย่างของความทรงจำเรื่องหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ 1 แล้วเชื่อมโยงกับความทรงจำที่อยู่ในพื้นที่ 3
ผมให้วงกลมส่วนนี้มีพื้นที่มากที่สุด เป็นการบอกว่าความทรงจำส่วนที่เราสามารถนึกถึงได้ และมีมากที่สุดในสมองของคนเรา ก็คือความทรงจำทั่วไปเนี่ยแหละ
1.4 พื้นที่สีเขียวเข้มเบอร์ "4" (ความทรงจำเก่าแก่) คือพื้นที่สำหรับเก็บความทรงจำที่เราใกล้จะลืมเข้าไปทุกที มันคือความทรงจำในอดีต ที่อยู่ไกลจากตัวเรามากไปเรื่อยๆ และหาความเชื่อมโยงกับความทรงจำในพื้นที่ 1,2,3 ลำบาก อาจเพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมานานแล้ว หรืออาจเพราะเราพยายามไม่สนใจมัน ทำให้เรานึกถึงมันยาก แต่ถ้าค่อยๆ ไล่เรียงลำดับความคิดไปเรื่อยๆ เราก็อาจจะนึกถึงมันได้
ผมอยากจะยกตัวอย่างความทรงจำประเภทนี้เช่น ความคืบหน้าของคดีความที่รับผิดชอบอยู่ ซึ่งจู่ๆ จะให้พูดออกมาเลย มันก็พูดไม่ได้ ต้องค่อยๆ ไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ในความทรงจำ แล้วจะค่อยๆ นึกออกเอง
นอกจากการไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ในความทรงจำ โดยนึกจากความทรงจำในพื้นที่ 1 หรือ 2 ออกมายังพื้นที่ 3 แล้วค่อยมายังพื้นที่ 4 ...เราไม่มีวิธีปกติวิธีอื่นที่จะใช้นึกความทรงจำในพื้นที่ 4 นี้ออกมาได้ เรื่องที่จู่ๆ จะนึกความทรงจำในพื้นที่ 4 ออกเลยนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้คล้ายกับการที่เราไม่สามารถให้นักหมากล้อมที่เล่นหมากล้อมเป็นประจำ เรียงหมากกระดานล่าสุดตาที่ 44 ของเขาออกมาได้เลย... จู่ๆ จะให้เขานึกภาพตาที่ 44 ออกมานั้นมันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าให้เขาค่อยๆ เรียงหมากจากตาที่ 1 ไปยังตาที่ 44 แบบนั้นเขาจะสามารถทำได้ เพราะความทรงจำในการวางหมากแต่ละตา มันเชื่อมโยงถึงกันด้วยเหตุและผล
1.5 พื้นที่สีขาวเบอร์ "5" (ความทรงจำที่เลือนลาง) คือพื้นที่สำหรับเก็บความทรงจำที่เรานึกยังไงก็นึกไม่ออกแล้ว มันคือความทรงจำทั้งหมดที่เราประสบตั้งแต่ตอนที่เราเกิดขึ้นมา แต่เราไม่สามารถนึกถึงมันได้ เช่น ความทรงจำในวัยเด็กทั้งหลาย
บ่อยครั้งมนุษย์เราเรียกความทรงจำเหล่านี้ว่าความทรงจำที่ลืมไปแล้ว ทว่าแท้จริงแล้วเราไม่ได้ลืมมันไป ความทรงจำเหล่านี้ไม่ได้หายไปจากสมองของเรา เพียงแต่มันเลือนลางลงไป เหตุที่เรานึกถึงมันไม่ได้ ก็เพราะมันขาดความเชื่อมโยงกับความทรงจำที่อยู่ในพื้นที่ 1-4
การที่เราจะนึกถึงความทรงจำเหล่านี้ได้นั้น อาจเกิดขึ้นได้หากเราไปอ่านไดอารี่ที่เราเขียนไว้ตั้งแต่เด็ก ไดอารี่เหล่านั้นก็จะช่วยให้เรานึกถึงเรื่องราวเหล่านั้นขึ้นมาได้ การดูภาพถ่ายก็เช่นเดียวกัน แต่ถ้าไม่มีทั้งไดอารี่และภาพถ่าย เราก็ยังสามารถ "ฝัน" ถึงมันได้.... บางครั้งเวลาที่คนเราฝัน เราก็อาจฝันถึงเรื่องราวในเด็ก ฝันถึงสิ่งที่เราคิดว่าเราได้ลืมมันไปแล้ว นี่คือหลักฐานว่าแท้จริงแล้ว ความทรงจำเหล่านั้นไม่ได้หายไปจากสมองของเรา มันก็ยังอยู่ในสมองนั่นแหละ
2. เขียนถึงแบบผ่านๆ ไปแล้ว แต่เขียนซ้ำให้ชัดเจนอีกรอบละกันว่า กรอบสี่เหลี่ยมแต่ละกรอบ แทนความทรงจำแต่ละเรื่อง กรอบสี่เหลี่ยมหลายกรอบที่มีเส้นตรงขีดเชื่อมกัน หมายถึงความทรงจำต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงกัน พอนึกถึงเรื่องหนึ่งออก ก็จะสามารถนึกโยงไปยังเรื่องถัดไปได้
3. ผมสร้างแผนภาพ โดยใช้สีน้ำตาล เขียว เหลือง เป็นหลัก เพราะผมมองว่ากลไกความทรงจำของมนุษย์มันก็เหมือนกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ ที่จะค่อยๆ แผ่กิ่งก้านสาขาออกไป กิ่งและใบที่เคยอยู่ใกล้ลำต้นก็จะค่อยๆ เขยิบห่างออกไปเรื่อยๆ (เช่นเดียวกับความทรงจำล่าสุดที่จะค่อยๆ กลายเป็นอดีต แล้วนึกถึงยากขึ้นเรื่อย) สุดท้ายใบไม้นั้นก็จะร่วงหล่นลงมา เปรียบได้กับความทรงจำที่ขาดความเชื่อมโยงกับความทรงจำในพื้นที่ 1-4 แล้วนั่นเอง
4. ในทฤษฎีนี้ ส่วนที่นามิเนะพูดถึง คือเรื่องที่ความทรงจำแต่ละเรื่องในหัวของคนเราเชื่อมโยงกันดั่งโซ่ การนึกถึงความทรงจำต่างๆ ก็คือการนึกไล่ตามข้อต่างๆ ของโซ่ไป เรื่องที่เรานึกไม่ออก ก็คือโซ่ข้อที่ขาดการเชื่อมต่อกับโซ่ข้ออื่นๆ ....ทว่าเราแค่นึกไม่ได้เท่านั้น เราไม่ได้ลืมมันไป
ส่วนการแบ่งพื้นที่เก็บความทรงจำออกเป็น 5 ชั้น การให้ความทรงจำล่าสุดกับความทรงจำฝังหัว เป็นความทรงจำที่เราสามารถนึกถึงได้ทันที ฯลฯ เป็นสิ่งที่ผมต่อยอดขึ้นมาเอง

ไม่มีความคิดเห็น